Translate

เกี่ยวกับเรา


บริษัท สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช จำกัด

บริษัท สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช จำกัด กำเนิดขึ้นมาด้วยการก่อตั้งของ คุณบุญธรรมและคุณบุญพริ้ง ต.สุวรรณ เริ่มต้นธุรกิจด้วยการมาเช่าตึกแถว2 ชั้นของชาวอินเดีย ที่แถวๆ สวนกวางตุ้งด้วยการเช่าเดือนละ 16 บาท เพื่อดำเนินการขายหนังสือ โดยได้นำหนังสือจากสำนักพิมพ์เอกชน และรัฐบาลมาขาย คุณอำพันธุ์ ตันฑวรรธนะ ข้าราชการกรมโฆษณาการเพื่อนคุณบุญพริ้งเป็นคนตั้งชื่อตั้งชื่อร้านว่า "สยามวัฒนาพานิช" และด้วยคุณภาพการบริการลูกค้าที่มีประสิทธิภาพจึงทำให้ร้านขายหนังสือเล็ก ๆ มีผลประกอบการที่ดี โดยคุณบุญพริ้ง ต.สุวรรณ ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ในช่วงนั้นว่า
"...เราส่งให้ถึงต้นทางไม่ว่าจะเป็นทางรถไฟหรือทางเรือ ลูกค้าที่สำคัญ ได้แก่ ร้านค้า โรงเรียน เราจัดส่งได้รวดเร็วทันเวลาที่เขาต้องการ ถ้าทางรถไฟลูกค้าสั่งก็ส่งเงินและจดหมายผ่านผู้ที่ได้สัมปทานขายอาหารบนรถไฟ ส่งเช้าเย็นก็ถึง ฉันเซ็นชื่อลงบนกระดาษชิ้นเล็ก ๆ รับเงินพร้อมจดหมายสั่งสินค้าจากชาวจีน ไม่เคยมีผิดพลาดสักครั้ง ฉันใจจดจ่อนั่งรอตอน 5 โมงเย็นด้วยหวัง...หัวใจเต้นเป็นกังวลว่าเย็นนี้จะมีจดหมายสั่งของจากลูกค้า หรือไม่ เป็นอยู่เช่นนี้หลาย ๆ ปี จะรู้สึกดีใจที่ได้รับและเสียใจเมื่อไม่ได้รับใบสั่ง"
ธุรกิจดำเนินมาเรื่อย ๆ จนกระทั่ง เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2482 จึงชื่อบริษัทจาก "สยามวัฒนาพานิช" เป็น "ไทยวัฒนาพานิช" เพราะ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ประกาศสำนักรัฐมนตรีว่าด้วยรัฐนิยม ที่ให้ใช้ชื่อประเทศ ประชาชน และสัญชาติ จาก "สยาม" เป็น "ไทย" จึงทำให้ชื่อบริษัทจำเป็นต้องเปลี่ยนไปด้วยส่วนเครื่องหมายการค้า อาจารย์ชาญ นาคพงศ์ เป็นผู้ออกแบบโดยออกแบบเป็นรูปเครื่องหมายห่วงคล้องกัน มีอักษรชื่อย่อ ท.ว.พ. อยู่ในสามห่วง ซึ่งมีลักษณะคล้ายเครื่องหมายของกรมพลศึกษาที่ติดอยู่หน้าสนามกีฬาแห่งชาติ เหตุที่ใช้เครื่องหมายนี้เป็นสัญลักษณ์ก็เพราะเรียกง่ายจำง่าย
"...เมื่อขายหนังสือมาได้ปีที่ 2 ฉันก็ทราบว่าหนังสือของโรงพิมพ์ไหนขายดีที่สุด ส่วนโรงพิมพ์ของรัฐที่ตั้งอยู่บางลำพูไม่ต้องพูดถึง โรงพิมพ์เอกชนก็มีแต่โรงพิมพ์เลปาจารย์อยู่บนถนนหลานหลวง เจ้าของชื่อคุณน้อยเคยเป็นครูประชาบาลมาก่อน เธอจึงทราบว่าวิชาใดที่ครูต้องการมาก ฉะนั้นหนังสือคุณน้อยจึงขายได้ดีมาก ๆ ฉันให้เด็กไปซื้อวันละ 2-3 ครั้ง นอกจากนี้ก็มีโรงพิมพ์ศรีหงษ์ ซึ่งคุณยิ้มเป็นเจ้าของ โรงพิมพ์ศึกษานุมิตร โรงพิมพ์อักษรนิจของคุณหญิงชลอ รังควรที่อยู่บางขุนพรม ฉันซื้อหนังสือจากโรงพิมพ์มาขายเงินสดทั้งนั้น... "
การซื้อหนังสือมาขายดำเนินมาระยะหนึ่งคุณบุญพริ้งจึงคิดตั้งโรงพิมพ์ขึ้น มาเองโดยการซื้อแท่นพิมพ์เครื่องแรก เป็นแบบ "หัตถไก" (แท่นฉับแกละ ) มาจากห้างเออาร์ซาเลบาย เมื่อติดตั้งแท่นพิมพ์เสร็จแล้ว ก็เริ่มพิมพ์หนังสือแบบเรียนทันที หนังสือที่พิมพ์ในตอนแรกก็คือ แบบเรียนศีลธรรม ป.1 -ป.4 ของอาจารย์สนั่น ผิวนวล และแบบเรียนสุขศึกษาของอาจารย์จำลอง สง่ามั่งคั่ง ซึ่งเป็นที่นิยมใช้ของโรงเรียนต่าง ๆ ในสมัยนั้น ต่อมาจึงได้จัดพิมพ์หนังสือแบบเรียนวิชาอื่นของครูอาจารย์นักเขียนเพิ่มขึ้น อีก เช่น ขุนประสงค์จรรยา อาจารย์ทองใบ แตงน้อย ปรากฏว่าได้รับความนิยมมากเช่นเดียวกัน จนถึงกับต้องเพิ่มแท่นพิมพ์ ให้พอกับงานที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากแท่นพิมพ์ 1 แท่นมาเป็น 2, 3 และ 4 แท่นตามลำดับ
ขณะที่กิจการการพิมพ์กำลังเจริญเติบโตขึ้นอย่างน่าพึงพอใจนั้น สงครามโลกครั้งที่ 2 ก็อุบัติขึ้น เมื่อมีระเบิดลงบริเวณสถานีรถไฟหัวลำโพงที่อยู่ใกล้สำนักงาน คุณบุญพริ้ง จึงต้องย้ายที่อยู่ไปอยู่แถวพระโขนง ส่วนคุณบุญธรรม ก็ได้เข้าร่วมกับขบวนการเสรีไทย ซึ่งมีนายปรีดี พนมยงค์ เป็นหัวหน้าและได้รับแต่งตั้งให้เป็นสารวัตรพิเศษ หลังสงครามยุติใน พ.ศ.2488 คุณบุญพริ้งได้ลงทุนร่วมกับเพื่อนซื้อเรือที่ญี่ปุ่นต่อทิ้งไว้ในเมืองไทย โดยถือหุ้น 50% เป็นเงิน 250,000 บาท ใช้เป็นเรือรับจ้างบรรทุกสินค้าระหว่างเกาะสมุย สงขลา ปัตตานี ปีนัง บางครั้งบรรทุกไปถึงฮ่องกง ต่อมาเรือบรรทุกสินค้าถูกเรือกลไฟชนจมลงจึงเลิกกิจการไปโดยปริยาย
ด้านกิจการค้าขายแบบเรียน นั้นแม้จะมีอุปสรรคเพราะโรงเรียนปิดหมดในช่วงสงครามแต่ก็ไม่เป็นอุปสรรคทาง การค้า คุณบุญพริ้งได้ติดต่อประสานงานกับกระทรวงศึกษาธิการผ่านทาง หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล อธิบดีกรมตำรา และคุณอภัย จันทวิมล ผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรา จึงทราบว่ากระทรวงศึกษาธิการและสถานที่ราชการขาดแคลนกระดาษอย่างมาก ประกอบกับในขณะนั้นไทยวัฒนาพานิชได้มีกระดาษเก็บในสต๊อกอยู่มากพอสมควรจึง ได้ขายต่อให้กับทางราชการ ต่อมาเมื่อโรงเรียนเปิดทำการเรียนการสอนตามปกติกิจการของบริษัทฯฟื้นกลับมา และดำเนินไปด้วยดี เมื่อผ่านฤดูขายแบบเรียนและมีเวลามากขึ้น คุณบุญพริ้งก็มิยอมอยู่ว่าง ยังได้ไปประมูลเครื่องเขียน กระดาษฟุลสแก๊ป กระดาษโรเนียว สมุด ดินสอ ปากกา กับกระทรวงมหาดไทย ทั้งที่ยังไม่ได้ลงทุนซื้อสินค้ามาเก็บไว้ เอาแต่ตัวอย่างให้ดูเท่านั้น เมื่อประมูลได้จึงไปติดต่อซื้อกับห้างขายเครื่องเขียนที่ใหญ่ที่สุดแถวถนน เจริญกรุง ซึ่งมีผู้จัดการ คือ คุณชิน โสภณพานิช คุณบุญพริ้งมักจะประมูลสำเร็จทุกงานเพราะเสนอราคาที่ต่ำสุด และเพราะความซื่อสัตย์ตรงต่อเวลานัดหมายในการส่ง รวมถึงคัดเลือกสินค้าที่มีแต่คุณภาพจึงเป็นที่เชื่อถือต่อองค์กรรัฐ นี่คือจุดสำคัญที่สร้างชื่อเสียงให้กับไทยวัฒนาพานิชมาตลอด
ด้านกิจการโรงพิมพ์ก็ขยายตัวขึ้นมาเรื่อย ๆ จึงจำเป็นต้องย้ายโรงพิมพ์ไปอยู่ที่หน้าสนามกีฬาแห่งชาติ ซึ่งก็คือ บริษัท โรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช จำกัด ในปัจจุบันนี้ ใน พ.ศ.2495 คุณบุญธรรม ได้เดินทางไปยุโรปเป็นครั้งแรก เพื่อดูงานด้านการพิมพ์และเครื่องพิมพ์ต่าง ๆ ต่อมาก็ได้สั่งเครื่องหล่อเรียงพิมพ์โมโนไทป์เข้ามาใช้เป็นเครื่องแรกและ แท่นพิมพ์ยี่ห้ออัลเบอร์ต ซึ่งเป็นเครื่องพิมพ์ที่ดีและทันสมัยที่สุดในขณะนั้น ทำให้งานพิมพ์มีคุณภาพและเพิ่มปริมาณขึ้นอีกหลายเท่า การผลิตแบบเรียนก็รุดหน้าอย่างรวดเร็ว โดยมีอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิจากมหาวิทยาลัยและสถาบันต่าง ๆ มาร่วมแต่งและเขียนตำรับตำราให้จนครบทุกสาขา การพิมพ์ก็พัฒนาให้ได้มาตรฐาน ทั้งเนื้อหาสาระความถูกต้องตามหลักวิชาการ หนังสือที่ผลิตออกจากที่นี่จึงเป็นที่เชื่อถือในด้านคุณภาพแก่นักเรียน นักศึกษา ตลอดจนครูอาจารย์โดยทั่วไป
บำเพ็ญประโยชน์สู่สังคม
บริษัทได้ยึดนโยบายดำเนินธุรกิจการพิมพ์และการผลิตหนังสือด้วยความซื่อ สัตย์ตลอดมา พร้อมกันนี้ก็ได้บำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติอยู่เป็นเนืองนิจ โดยเฉพาะได้ให้ความร่วมมือกับส่วนราชการเป็นอย่างดี เช่น บริษัทได้มอบทุนการศึกษาแก่กรมการฝึกหัดครู จำนวน 800,000 บาท (ประมาณ 30 ปีที่แล้ว) โดยซื้อเป็นพันธบัตรเงินกู้ของรัฐบาล เพื่อนำรายได้จากดอกเบี้ยมาหมุนเวียนสำหรับเป็นทุนในการศึกษาเล่าเรียนแก่ นักเรียนฝึกหัดครู ทั่วราชอาณาจักรปีหนึ่ง หลายทุนด้วยกัน ซึ่งปัจจุบันได้สำเร็จออกไปรับราชการเป็นพ่อพิมพ์แม่พิมพ์แล้วหลายร้อยคน
นอกจากนั้นยังได้ทำกิจกรรมด้านการกุศลอื่นก็บริจาคเสมอมา เช่น เมื่อ พ.ศ.2517 คุณบุญธรรม ได้ทูลเกล้าฯถวายเงิน โดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นเงิน 1,000,000 บาท และยังได้บริจาคเงินสร้างโรงเรียนอีกหลายแห่ง เช่น โรงเรียนมัธยมศึกษาที่อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา เนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ ทรงได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อโรงเรียนว่า "บุญวัฒนา" สิ้นเงินค่าก่อสร้างทั้งสิ้น 4,816,264.40 บาท และทรงเสด็จไปทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ.2517
ใน พ.ศ. 2518 ก็ริเริ่มตั้งมูลนิธิ "ไทยวัฒนา ต. สุวรรณ" ขึ้นเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมศิลปะวัฒนธรรมของชาติ ช่วยเหลือสถาบันการศึกษากับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและได้จัดทำโครงการและ มอบทุนคณาจารย์ และนักศึกษาทางการวิจัยชุมชนแออัดที่คลองเตย และในปีเดียวกันนี้เอง จากการที่บริษัทได้บำเพ็ญสาธารณกุศลมาโดยตลอด จึงได้รับพระราชทานครุฑตราตั้งให้เป็นบริษัทฯโดยพระบรมราชานุญาต และโปรดเกล้าแต่งตั้งคุณบุญธรรม ต.สุวรรณ เป็นวุฒิสมาชิก ชื่อเสียงของไทยวัฒนาพานิช ยังคงได้รับการรักษาสืบทอดจนถึงผู้บริหารรุ่นที่ 3 ของตระกูล ในปัจจุบันไทยวัฒนาพานิชได้พัฒนาตัวเองต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อรักษาคุณภาพของโรงพิมพ์และสำนักพิมพ์ให้ก้าวหน้า โดยนำระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาใช้ทำให้เป็นที่รู้จักในฐานะผู้นำทาง ด้านการผลิตแบบเรียนและสื่อการเรียนการสอนที่ทันสมัย ตลอดจนได้รับความเชื่อถือจากบริษัท และสำนักพิมพ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศร่วมกันผลิตสินค้าเพื่อออกสู่ตลาด การศึกษาในประเทศไทย
ด้วยเกียรติประวัติที่ยาวนานทำให้ผู้บริหารและพนักงานตั้ง มั่นอยู่ในใจเสมอว่าทุกคนจักต้องสานต่อภารกิจที่จะนำพาให้บริษัทเป็นส่วน หนึ่งในการพัฒนาการศึกษาของประเทศไทยให้ก้าวหน้าต่อไป